หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ VS หนังสือกระดาษ (2:จบ)
คุยกันก่อน : ในตอนที่แล้ว กำลังกล่าวถึงจุดแข็งและจุดอ่อนบางประการของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ มาตอนนี้จะเริ่มจากมุมมองเกี่ยวกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ต่อ ก่อนที่จะไปถึงมุมมองหนังสือกระดาษ
ความฝันอันสูงสุดของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นจริงขึ้นมาได้หรือ ?
ความฝันอันสูงสุดของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ คือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ที่บรรจุหนังสือได้เป็นจำนวนนับล้าน ๆ เล่มจากห้องสมุดหรือร้านขายหนังสือทั่วโลก แล้วก็อ่านง่าย สบายตา ผู้อ่านสามารถค้นหาเรื่องและหน้า หรือตำแหน่งที่ต้องการได้ง่าย มีภาพเคลื่อนไหวที่คมชัด ราบรื่น ไม่สะดุด มีเสียงที่คมชัด ความฝันอันสูงสุดนี้ จะขึ้นอยู่กับพัฒนาการ 2 เรื่องที่ชัดเจนที่สุด คือ (1) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทั่วโลก และ (2) เทคโนโลยีด้านตัวฮาร์ดแวร์ของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ในส่วนเกี่ยวกับการค้นหาข้อมูลสาระ การแสดงภาพทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว และเสียง
สำหรับเรื่องแรก แนวโน้มความเป็นไปได้มีมากพอสมควร ที่เริ่มปรากฏขึ้นมาคือ โทรศัพท์มือถือที่เล่นอินเทอร์เน็ตได้ แต่เส้นทางของพัฒนาการจากโทรศัพท์มือถือที่เล่นอินเทอร์เน็ตได้ ถึงขั้นเชื่อมต่อและเรียกหาหนังสือจากห้องสมุดและร้านหนังสือทั่วโลก ผู้เขียนเชื่อว่า ยังจะต้องการเวลาอีกนานพอสมควร อย่างน้อยประมาณเกือบหนึ่งทศวรรษหรือนานกว่า แต่ก็แน่นอนว่า สามารถจะเกิดขึ้นได้ ถ้ามนุษย์ต้องการจริง ๆ
แล้วมนุษย์จะไม่ต้องการจริง ๆ หรือ ?
ผู้เขียนเชื่อว่า สิ่งที่มนุษย์ต้องการ จะเกิดขึ้นเสมอ แต่จะเกิดขึ้นในระดับเป็นที่แพร่หลายจริง ๆ หรือไม่ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกว่าความเป็นไปได้เพียงอย่างเดียว ธรรมชาติของมนุษย์ ก็เกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งการลงทุนในเชิงเทคโนโลยี ที่กว่าจะถึงจุดทำกำไรได้ จะต้องมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอีกมาก และผลที่ออกมา อาจจะแพงเกินกว่าที่จะเป็นเทคโนโลยีสำหรับคนทั่ว ๆ ไปได้
สำหรับเรื่องที่สอง เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เป็นฮาร์ดแวร์ของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ที่จะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้เขียนเชื่อว่า สามารถจะทำได้ และมีแนวโน้มจะก้าวหน้าไปเร็วกว่าเรื่องแรก
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นเพื่อนกับสภาพแวดล้อมจริงหรือ ?
ตัวอย่างที่มักอ้างกัน คือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยลดปัญหาการตัดไม้ทำลายระบบนิเวศน์ เพราะหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องใช้กระดาษที่มาจากเยื่อไม้
ข้อดีข้อนี้ของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ชัดเจนนัก เพราะอีกมุมหนึ่งของหนังสือกระดาษโต้แย้งได้ว่า ถึงแม้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ไม่ต้องใช้กระดาษ แต่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ ต้องใช้คอมพิวเตอร์ชิพ ซึ่งต้องผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้กระบวนการทางเคมี ใช้สารเคมี และเป็นต้นเหตุของปัญหาสภาวะแวดล้อมได้
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยแก้ปัญหา ด้านการศึกษาและการอ่านออกเขียนได้ของประชาชนในประเทศยากจนได้อย่างไร ?
มุมมองหนึ่งที่คาดหวังกัน คือ โดยอาศัยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เพียงไม่กี่เล่ม ที่เชื่อมต่อกับห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วโลกได้ในประเทศ หรือหมู่บ้านที่ยากจนมาก ๆ ที่ขาดแคลนหนังสือกระดาษ คนในประเทศหรือหมู่บ้านที่ยากจนเหล่านั้น ก็สามารถจะอ่านหนังสือดีมีคุณค่าจากห้องสมุดชั้นดีของโลกได้ และจะช่วยเพิ่มอัตราการอ่านออกเขียนได้ของคนในประเทศหรือหมู่บ้านที่ยากจนได้
ความหวังนี้ เป็นความฝันที่สวยหรู ที่มีคนไม่มากนักเชื่อว่า จะเกิดขึ้นได้จริง ๆ จากปัญหาการลงทุนด้านเทคโนโลยี นำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ไปถึงประเทศ หรือหมู่บ้านที่ยากจน และภาษาก็จะเป็นปัญหาอีกด้วย เพราะคนที่ยากจนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก อ่าน - เขียนภาษาหลัก ๆ ของโลก ดังเช่น ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ที่เป็นภาษาหลัก ๆ ของหนังสือส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองโดยภาพรวม สำหรับผู้นิยมชมชอบมุมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ก็จะมั่นใจมากทีเดียวว่า ถึงแม้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์อาจจะแก้ปัญหาสภาวะแวดล้อมไม่ได้จริง ๆ อาจจะแก้ปัญหาด้านการศึกษาและการอ่านออกเขียนได้ของประชาชนในประเทศยากจนไม่ได้จริง ๆ แต่อนาคตของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ กำลังมาแรงจริง ๆ และไม่มีอะไรจะไปหยุดยั้งได้ !
คราวนี้ ก็มาถึงมุมของหนังสือกระดาษ !
จริงหรือ หนังสือกระดาษ ไม่มีวันตาย ?
สำหรับคนที่เป็นนักอ่านหนังสือจริง ๆ คนที่รักหนังสือจริง ๆ มั่นใจเช่นนั้น !
เพราะอะไร ?
เพราะหนังสือกระดาษ มีและให้ในสิ่งที่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ให้ไม่ได้ ดังเช่น ความรู้สึกด้านคุณค่าและความรู้สึกที่พิเศษสำหรับหนังสือแต่ละเล่ม
หนังสือแต่ละเล่มที่เป็นหนังสือกระดาษ มีปกของตนเอง มีขนาดและความหนาของตนเอง หนังสือกระดาษพลิกอ่านได้อย่างที่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ให้ไม่ได้ เพราะถึงแม้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะสามารถแสดงปกหนังสือที่แตกต่างกันของแต่ละเล่มได้ แต่เมื่อไม่เปิดอ่าน หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ทุกเล่ม ก็จะเหมือนกันหมด เป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ชิ้นหนึ่งที่คล้ายคลึงกันไปหมด
คนรักหนังสือส่วนใหญ่ เมื่อหยิบหนังสือกระดาษแต่ละเล่มขึ้นมา จะมีความรู้สึกเป็นพิเศษกับหนังสือที่อยู่ในมือ ความใหม่ ความเก่า สีของกระดาษ กลิ่นของกระดาษ ล้วนเป็นสิ่งที่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ให้ไม่ได้
ข้อดีอีกข้อหนึ่งของหนังสือกระดาษ คือ เป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้เสมอ เปิดเมื่อไร ก็ได้อ่าน ในขณะที่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า ต้องใช้ถ่านหรือแบตเตอรี่ จึงจะอ่านได้ หมดพลังงานไฟฟ้าเมื่อไร ก็อ่านไม่ได้
สำหรับเรื่องของคุณค่าแห่งการดำเนินชีวิต ในส่วนที่เกี่ยวกับความรีบร้อน เร่งรีบหรือไม่ หนังสือกระดาษจะสามารถสอนคุณค่าแห่งการดำเนินชีวิตในลักษณะดังกล่าวนี้ได้ดี เพราะผู้อ่านไม่ต้องรีบร้อน เปิดอ่าน ในทันทีที่หยิบหนังสือขึ้นมา ไม่เหมือนกับกรณีของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ที่ผู้อ่าน จำเป็นจะต้องรีบอ่าน มิฉะนั้นก็เสียทั้งเงิน ทั้งพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น
มาถึงข้อสุดท้าย จริงหรือ หนังสือกระดาษ เป็นครูในฝันของนักเรียน ?
ผู้เขียนขอตอบว่า จริง เพราะหนังสือกระดาษ เปรียบได้เป็นครูที่ใจดี ใจเย็น รู้ใจลูกศิษย์เสมอ ไม่ใส่อารมณ์เมื่อลูกศิษย์ทำไม่ได้ดังใจ ๊
ไม่เหมือนกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถ้าเปรียบเป็นครู ก็เป็นครูที่ใจร้อน เร่งให้ลูกศิษย์รีบทำสิ่งที่ควรจะทำ คือการอ่าน และถ้าลูกศิษย์อ่านช้าเกินไป ก็เกิดปัญหา มีคำเตือน หรือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์รวนขึ้นมาได้ อีกทั้งลูกศิษย์จะรู้สึกเสมอว่า จะต้องรีบอ่าน เพราะ " เวลาแพง " ( เวลาที่ใช้อินเทอร์เน็ต หรือเวลาที่เป็นอายุของแบตเตอรี่ )
บทสรุปรวบยอดของผู้เขียน สำหรับเรื่องของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ VS. หนังสือกระดาษ เป็นดังนี้ :
ผู้เขียนเชื่อว่า หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ กำลังจะมาแรง ยุคของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์กำลังจะมาถึงแล้วจริง ๆ แต่หนังสือกระดาษก็จะไม่มีวันตาย
แนวโน้มที่ผู้เขียนเห็น คือ หนังสือกระดาษ จะลดบทบาทลงไปบ้าง หนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะเข้ามาแทนที่หนังสือกระดาษได้มาก แต่ในอนาคต ผู้เขียนยังมองเห็นหนังสือ กระดาษอยู่เคียงคู่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ไปอีกนานแสนนาน !
http://www.pantip.com/cafe/wahkor/article/chaiwat/cwt_bkkbz058.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น